พ่อจ๋าแม่จ๋า.. เข้าใจหนูหน่อย หนูกำลังสร้างพัฒนาการอยู่นะ เช็กลิสต์พัฒนาการลูกน้อยในแต่ละด้าน ลูกมีพัฒนาการปกติหรือไม่.......ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 2 เดือน
พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ ความสามารถของร่างกายในการเคลื่อนไหว เช่น การยกศีรษะ คว่ำ นั่ง คลาน ยืน และเดิน เป็นต้น พัฒนาการหลักด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของเด็กทารก แรกเกิด - 2 เดือน ดังนี้
แรกเกิด
เด็กสามารถงอแขนขา และเคลื่อนไหวเท่ากัน 2 ข้าง ในท่านอนคว่ำ มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เช่น ปฏิกิริยาการดูดกลืน และเมื่อมีเสียงดังทารกจะแหงนศีรษะไปข้างหลัง คอยืดออก แขน และขากางออก แอ่นตัวอย่างรวดเร็ว
1 เดือน
เริ่มชันคอ ผงกศีรษะ หันหน้าซ้าย ขวา ขาเริ่มเหยียดในท่าคว่ำ
2 เดือน ท่าคว่ำชันคอได้ 45 องศา และสามารถยกศีรษะเงยหน้าขึ้นมองได้
พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นความสามารถในการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา การควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานของกล้ามเนื้อ พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาจากส่วนแกนกลางลำตัวออกสู่แขนขา และปลายนิ้ว ทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมลำตัว และแขนขาจะพัฒนาถึงขึ้นวุฒิภาวะก่อน ที่เด็กจะสามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่ควบคุมมือและนิ้ว พัฒนาการหลักด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กวัยทารกช่วงแรกเกิด – 2 เดือน มีดังนี้
- แรกเกิด มองเหม่อ เห็นได้ชัดเฉพาะระยะห่าง 8-9 นิ้ว มี palmar-grasping reflex
- 1 เดือน กำมือแน่น จ้องมองสิ่งต่างๆ มองตามไม่เกินเส้นกึ่งกลางของตัว
- 2 เดือน มือกำหลวม มองตามวัตถุข้ามเส้นกึ่งกลางตัว
พัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการทางภาษาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
การรับรู้ภาษา ต้องอาศัยประสาทรับความรู้สึกที่สำคัญ คือ การได้ยิน และการมองเห็น
การแสดงออกทางภาษา อาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อ และกลไกของการออกเสียง เช่น สัมผัสของหู ลิ้น เพดาน ขากรรไกร และกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ รวมถึงการแสดงออกของท่าทาง เช่น แสดงท่าทางตื่นเต้นขณะดีใจ หรือหัวเราะ พัฒนาการด้านภาษาของเด็กทารกจะพัฒนาได้รวดเร็วขึ้นอยู่กับความสามารถในตัวเด็กเอง และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ในการพูดเป็นทักษะที่เด็กต้องฝึกฝน เรียนรู้ที่จะเปล่งเสียง และรู้จักใช้ความสัมพันธ์ระหว่างความหมาย และคำพูดให้ถูกต้อง เด็กไม่ได้เรียนรู้ประโยคคำพูดจากการจำ แต่มีเกณฑ์ในการรวมคำให้เป็นประโยค มีการวิเคราะห์อย่างซับซ้อน ในภาษาที่เขาได้ยิน และความหมายที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก การได้รับความสำเร็จในการพูดคำ คำแรกของเด็กต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาก่อน เช่น การฟังคำพูดของผู้อื่น และพยายามทำเสียงให้เหมือน พัฒนาการหลักด้านพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กวัยทารกช่วงแรกเกิด – 2 เดือน มีดังนี้
- แรกเกิด ร้องไห้ หยุดฟังเสียง
- 1 เดือน ทำเสียงในลำคอ
- 2 เดือน ฟังเสียงคุยด้วยแล้วหันมาหา
พัฒนาการด้านสังคม และการช่วยเหลือตนเอง หมายถึง ความสามารถของเด็กในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาการด้านสังคม และการช่วยเหลือตนเองของทารกช่วงแรกเกิด – 2 เดือน มีดังนี้
- แรกเกิด มองหน้าช่วงสั้น เลียนแบบอ้าปาก แลบลิ้นได้
- 1 เดือน มองจ้องหน้า
- 2 เดือน มองจ้องหน้าสบตา แสดงความสนใจ ยิ้มตอบ
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแชทได้เลย
LINE : https://bit.ly/3gYJDmt
Messenger : https://bit.ly/3uiIslN
#พัฒนาการเด็ก #ตั้งแต่แรกเกิดถึง2เดือน
Comments